ในแวดวงธุรกิจเราจะได้เห็นทั้งคำว่า วิจัยตลาด (Market Research) และ วิจัยการตลาด (Marketing Research) แล้วมันต่างกันอย่างไร? มีการใช้ 2 คำนี้แทนกันจนทำให้เราสับสนอยู่พอสมควร
วิจัยตลาด (Market Research)
คือกระบวนการในการค้นหาคำตอบว่าผู้บริโภคในตลาดนั้นมีความต้องการอย่างไร ด้วยวิธีการค้นหาข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำข้อมูลที่ได้นั้นมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการแก้ปัญหาและวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ
เช่น ภาพรวมของตลาดสินค้า ๆ หนึ่ง มีความต้องการสินค้าแบบไหน งบประมาณต่อการซื้อสินค้าประเภทเดียวกันเป็นอย่างไร ภาพลักษณ์ของสินค้าที่ลูกค้าที่ต้องการเป็นแบบไหน รวมถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบเดียวกันซ้ำ รวมถึงส่วนแบ่งการตลาดของคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม
การวิจัยตลาด ควรเป็นสิ่งแรกสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เพื่อทราบข้อมูลทั้งเบื้องต้นและเชิงลึก ตลอดจนประเมินว่าสินค้าหรือบริการใหม่มีศักยภาพอย่างไรสำหรับตลาดเป้าหมาย
กระบวนการ วิจัยตลาด โดยทั่วไป มีดังนี้
- จัดตั้งผู้ดำเนินการวิจัย แผนกวิจัยการตลาดภายในองค์กร หรือหน่วยงานเฉพาะทางวิจัยตลาดภายนอกองค์กร
- เลือกเทคนิคการวิจัยตลาดที่เหมาะสม เช่น ลงพื้นที่เก็บข้อมูล แบบสอบถาม สัมภาษณ์
- รวบรวมข้อมูล
- จัดระเบียบ ตีความ และวิเคราะห์ข้อมูล
- รายงานสรุปผลการวิจัย
วิจัยการตลาด (Marketing Research)
คือกระบวนการเก็บข้อมูลมาจากผู้บริโภคด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ประมวลผลทางสถิติ ออกมาเป็นค่าความถี่และความเที่ยงของข้อมูล ที่สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในด้านการสร้างกลยุทธ์การตลาด หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้
จุดประสงค์ของการวิจัยการตลาด
- วิจัยลูกค้า
- วิจัยการโฆษณา
- วิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์
- วิจัยการจัดจำหน่าย
- วิจัยการขาย
- วิจัยด้านปัจจัยแวดล้อมภายนอก
วิจัยการตลาดลูกค้า
ใช้เพื่อหาข้อมูลเรื่องแรงจูงใจและพฤติกรรมของลูกค้า ลักษณะที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ของกลุ่มลูกค้าและข้อมูลประชากร จำนวนและอำนาจการใช้จ่าย และความน่าเชื่อถือของลูกค้า ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ ในการแบ่งกลุ่มลูกค้าและการกำหนดเป้าหมาย แต่ยังมีประโยชน์สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มของตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อีกด้วย
วิจัยการตลาดเพื่อการโฆษณา
ใช้เพื่อวัดความสำเร็จของแคมเปญโฆษณา เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลว่าสื่อใดมีประสิทธิภาพมากที่สุด โฆษณาใดมีประสิทธิภาพมากที่สุด และข้อความใดที่เข้าถึงลูกค้าได้ดีที่สุด การวิจัยการโฆษณาเกี่ยวข้องกับการรับรู้ของลูกค้า ดังนั้นจึงมีความเหลื่อมล้ำกับการวิจัยลูกค้าเป็นอย่างมาก แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการทำโฆษณาแต่ละชิ้นว่าต้องการสื่อสารอะไรกับลูกค้าหรือคนดู เนื่องจากบางสินค้าหรือบริการ ไม่ได้ทำโฆษณามาเพื่อหวังกระตุ้นยอดซื้อแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาจเป็นได้ว่าต้องการสร้างภาพลักษณ์องค์กร สร้างกระแสเพื่อให้เกิดการพูดถึง การถกเถียง ถึงบางประเด็นหรือบางคำถามขึ้นก็ได้เช่นกัน
วิจัยการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่
จำเป็นต้องได้รับการทดสอบกับลูกค้า ซึ่งบางครั้งอยู่ในขั้นตอนแนวคิด และบางครั้งก็อยู่ในขั้นตอนพัฒนาต้นแบบ สำหรับการวิจัยผลิตภัณฑ์ จะทำเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าคุณลักษณะและประโยชน์ใดของสินค้าหรือบริการนั้น ดึงดูดลูกค้ามากที่สุด และยังสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งได้อีกด้วย
นอกจากนี้การวิจัยบรรจุภัณฑ์ เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของการวิจัยผลิตภัณฑ์ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ให้ประโยชน์บางประการกับตัวผลิตภัณฑ์เอง อย่างประเด็นเรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นไปในทางกลับกันหรือไม่ ตลอดจนปัจจัยที่เป็นข้อได้เปรียบต่อผู้จัดจำหน่าย เช่น คลังสินค้าและผู้ค้าปลีก ตลอดจนถึงผู้บริโภค
วิจัยการตลาดสำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย
ใช้การวิจัยเพื่อค้นหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยปกติแล้วธุรกิจหรือตัวนักนักวิจัย จะมองหาผู้ค้าปลีกที่มีความกระตือรือร้นในตลาดเป้าหมายของบริษัท และผู้ค้าส่งที่ติดต่อกับผู้ค้าปลีกที่เหมาะสม
วิจัยการตลาดเพื่อวางแผนการขาย
มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินประสิทธิภาพของพนักงานขายแต่ละคน เทคนิคการขายที่แตกต่างกัน และวิธีการจัดการการขายที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการออกแบบพื้นที่ขายเพื่อให้แน่ใจว่ามีศักยภาพเท่าเทียมกัน ซึ่งจะลงรายละเอียดและความลึกของข้อมูลมากกว่าข้อมูลของลูกค้าแบบแบ่งตามภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนของผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นลูกค้า ระยะการเดินทาง และความมั่งคั่งโดยรวมของภูมิภาค
วิจัยการตลาดเพื่อรับมือกับด้านปัจจัยแวดล้อม
ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งแวดล้อมหรือภัยธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงปัจจัยภายนอก เช่น ปัจจัยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัท โรงงาน และแบรนด์ในอนาคตได้อีกด้วย
Tip ในการวิจัยตลาด
อย่าลืมร่างวัตถุประสงค์ของคุณก่อนเริ่มการวิจัย การกำหนดวัตถุประสงค์เป็นขั้นตอนแรกที่จะช่วยให้วิจัยตลาดประสบความสำเร็จได้ไม่ยากเกินไป การระบุคำถามที่คุณต้องการตอบ ผ่านการวิจัยที่คุณวางแผนจะดำเนินการ จะช่วยให้ทีมได้ถูกวัตถุประสงค์มากขึ้น เมื่อถึงการดำเนินการวิจัย
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 คำนี้มีความหมายที่ใกล้เคียงและคาบเกี่ยวจนแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน และมักมีการใช้แทนกันอยู่บ่อยครั้งในสื่อต่าง ๆ ดังนั้นจึงน่าจะพอสรุปได้ว่า ทั้ง วิจัยตลาด และ วิจัยการตลาด ก็คือคำเดียวกัน ที่มีการนิยมใช้ต่างกันไปตามแต่ละสำนัก
เลือก วิจัยตลาด หรือ วิจัยการตลาด
ซึ่งทั้งสองอย่างต่างมีความสำคัญต่อความสำเร็จของทุกธุรกิจ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เสริมสำหรับเครื่องมือเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เช่น แบบสำรวจ การสัมภาษณ์ การพูดคุย เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น วัดผลได้แม่นยำขึ้น และส่งเสริมธุรกิจให้พัฒนาได้ดีมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
สำหรับ Crowdabout ที่เป็นบริษัทวิจัยตลาดในประเทศไทย ที่เน้นการทำวิจัยในภาพรวมของธุรกิจอย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่เน้นโฟกัสในด้านการตลาดเท่านั้น จึงใช้คำว่า วิจัยตลาด (Market Research) เป็นหลัก เพื่อให้มีความหมายที่ครอบคลุม และสั้นกระชับ เข้าใจได้ง่ายกว่า
ขอบคุณแหล่งที่มาบางส่วนจาก qualtrics