อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ถูก disrupt โดยเทคโนโลยี ในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมาพบว่ารายได้ของธุรกิจสื่อและโฆษณาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากต้องปิดตัวลง นอกจากนี้การเข้ามาของ Digital Platform และสื่อออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคหันไปเสพสื่อในช่องทางเหล่านั้นมากขึ้นเพราะมีความสะดวก รวดเร็ว มากกว่าการเสพสื่อในรูปแบบเดิม
ถึงแม้จะมีหลายบริษัทที่ได้ปิดตัวลงแต่ยังมีบริษัทสื่อและสำนักพิมพ์จำนวนมากที่ปรับตัวผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้ ด้วยแนวทางการปรับตัวหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น MEB แพลตฟอร์มที่ผันตัวจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็กสู่ผู้ให้บริการ E-Book จนกลายเป็นบริษัทหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ได้
Mint Magazine ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบคอนเทนต์ด้วยกลยุทธ์ Fanbased Economy โดยนำศิลปินหรือผู้มีชื่อเสียงมาขึ้นปกนิตยสารเพื่อดึงดูดกลุ่มแฟนคลับของบุคคลดังกล่าว หรือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตนิตยสารชั้นนำอย่างแพรว บ้านและสวน ชีวจิต ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนคอนเทนต์นำคอนเทนต์ทั่วไปมาลงในช่องทาง Social Media มากขึ้น และนำคอนเทนต์ที่ลงรายละเอียดเชิงลึกตีพิมพ์ในนิตยสารเพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านยังคงซื้อนิตยสารอยู่
นอกเหนือจาก Digital disruption แล้ว ยังมีเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการอ่านที่เพิ่มขึ้นจากช่องทาง Digital เช่น website และช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แต่ในส่วนของหนังสือแบบรูปเล่มนั้นมีแนวโน้มลดลง โดยมูลค่าตลาดของหนังสือเล่มในปี 2565 ลดลงจาก 30,000 ล้านบาท เหลือเพียง 12,000 ล้านบาทเท่านั้น
Crowdabout จึงได้เก็บข้อมูลเรื่องพฤติกรรมการอ่านและเลือกซื้อหนังสือผ่าน Crowdabout Online Panel ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมากลุ่มตัวอย่างเลือกอ่านหนังสือแบบ E-Book หรือออนไลน์มากกว่าการอ่านหนังสือแบบเล่ม และหนังสือประเภทนวนิยายเป็นหนังสือที่กลุ่มตัวอย่างชอบอ่านและเลือกซื้อมากที่สุด
กลุ่มตัวอย่างกว่า 58% เลือกอ่านหนังสือผ่านทางออนไลน์หรือ E-Book แทนการอ่านหนังสือแบบเล่ม เพราะสะดวกและสามารถอ่านที่ไหนก็ได้ ส่วนเหตุผลหลักที่คนเลือกอ่านหนังสือแบบเล่มเพราะมีสมาธิในการอ่านมากกว่าการอ่านหนังสือแบบ E-Book และเห็นว่าหนังสือแบบเล่มช่วยถนอมสายตามากกว่าเพราะไม่ต้องเพ่งจอเป็นเวลานาน ๆ
หนังสือหมวดหมู่นวนิยายเป็นหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองและหนังสือท่องเที่ยวตามลำดับ
นอกจากนี้ Crowdabout ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 95.2% ของผู้ที่เคยไปงานหนังสือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 500-1,000 บาท ต่อครั้ง ซึ่งมากกว่าการใช้จ่ายในการซื้อหนังสือช่วงเวลาปกติ
อนาคตและโอกาสของธุรกิจหนังสือจะเป็นอย่างไร
อุตสาหกรรมหนังสือในประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการเพิ่มขึ้นของ E-Book และแพลตฟอร์มออนไลน์ จากการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เพิ่มขึ้น ซี่งให้ความสะดวกสบายและความเข้าถึงง่ายกับผู้อ่านมากกว่าหนังสือแบบรูปเล่ม เราจึงคาดหวังจะเห็นสำนักพิมพ์และร้านหนังสือในประเทศไทยนำเสนอ E-Book และนำเสนอคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
Digital disruption นี้ ยังทำให้นักเขียนสามารถตีพิมพ์ผลงานของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องทำผ่านสำนักพิมพ์ในรูปแบบเดิมๆ เนื่องจากมีเครื่องมือออนไลน์มากมายที่ทำให้นักเขียนสามารถตีพิมพ์ผลงานได้ด้วยตนเอง เช่น Kindle Direct Publishing, Wattpad หรือ Smashwords ที่ทำให้นักเขียนที่สามารถเผยแพร่ผลงานของตนเองเพื่อขายในรูปแบบ Digital ได้ด้วยตนเอง โดยการตีพิมพ์ผ่านช่องทางเหล่านี้ทำให้นักเขียนมีอำนาจควบคุมดูแลเนื้อหา การออกแบบต่างๆ รวมถึงการตั้งราคา และนักเขียนยังได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมากจากการขายในรูปแบบนี้สูงกว่าการขายผ่านสำนักพิมพ์ในรูปแบบเดิม
ด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้เราคาดหวังจะได้เห็นผลงานจากนักเขียนหน้าใหม่อีกมาก ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับนักอ่าน ที่จะได้เสพผลงานคุณภาพที่หลากหลาย ในราคาที่ถูกลง ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ก็จะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมหนังสือโดยตรง ที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันกับพฤติกรรมและความสนใจของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมยังคงไปต่อได้แม้จะมีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง