fbpx
Aug 9, 2022 • BY Admin
อาหารสำหรับผู้สูงอายุและสกินแคร์สำหรับผู้สูงอายุ
อาหารสำหรับผู้สูงอายุ

ในปัจจุบันตลาดสินค้าผู้สูงอายุกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหลากหลายกลุ่มสินค้า โดย Crowdabout สามารถจำแนกไว้ได้ 3 กลุ่มคือ สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ติดตามผู้สูงอายุ สินค้ากลุ่มอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และสินค้ากลุ่มสกินแคร์สำหรับผู้สูงอายุ โดยสินค้าในตลาดผู้สูงอายุส่วนมากมักถูกออกแบบและผลิตมาให้ถูกใจกับกลุ่มลูกหลานที่เป็นผู้ดูแลและตัดสินใจซื้อสินค้าต่าง ๆ ในตลาดผู้สูงอายุเป็นหลัก

ความกังวลที่รองลงมาจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุของกลุ่มลูกหลานคือ การได้รับสารอาหารต่างๆไม่เพียงพอต่อร่างกายของผู้สูงอายุ ทำให้สินค้าผู้สูงอายุในกลุ่มอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และ สกินแคร์สำหรับผู้สูงอายุ ถือเป็นอีกกลุ่มที่มีความต้องการในตลาดมากไม่แพ้กัน

Apple watch อุปกรณ์ ติดตามผู้สูงอายุ
Photo by Blocks Fletcher on Unsplash

อาหารสำหรับผู้สูงอายุ

ปัญหาหลักในเรื่องการกินของกลุ่มผู้สูงอายุ มีทั้งหมด 3 ปัญหา ได้แก่

1. ภาวะขาดสารอาหาร

ประมาณ 20% – 60% ของผู้สูงอายุมีภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ผลข้างเคียงจากอาการกินข้าวไม่ลงและภาวะกลืนลำบาก ปัญหาทางช่องปากทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้มากเท่าที่ควร หรือภาวะเครียดและซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งภาวะขาดสารอาหารนั้นมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่พักอยู่ที่บ้านพักคนชรา เนื่องจากผู้สูงอายุไม่มีโอกาสได้เลือกอาหารเอง และเมนูอาหารในบ้านพักคนชราไม่ค่อยมีความหลากหลาย นำไปสู่อาการเบื่ออาหารและภาวะขาดสารอาหารในที่สุด ซึ่งผลข้างเคียงของภาวะขาดสารอาหาร ได้แก่ มวลกล้ามเนื้อลดลง โรคกระดูกพรุนซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กระดูกหักหลังจากการหกล้ม ภูมิคุ้มกันบกพร่องนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่ายและแผลหายช้า เป็นต้น

2. ภาวะกลืนลำบาก

ประมาณ 10% – 40% ของผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก โดยยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งประสบกับภาวะกลืนลำบากในระดับที่รุนแรงมากขึ้นด้วย ผู้สูงอายุมักต้องใช้เวลาและความพยายามมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเคลื่อนอาหารหรือของเหลวจากปากให้ผ่านหลอดอาหารไปสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งสาเหตุของการกลืนลำบากในผู้สูงอายุมักมาจากความเสื่อม หรือโรคที่เกิดจากสมอง เช่น หลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็งส่งผลให้การกลืนอาหารทำได้ยากมากขึ้น ซึ่งอาการนี้สามารถทำให้เกิดการสำลักอาหารและการอุดตันของทางเดินหายใจได้

3. ภาวะเบื่ออาหาร

ประมาณ 15% – 30% ของ ผู้สูงอายุมีอาการเบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการที่ไม่รู้สึกอยากอาหาร ความต้องการกินอาหารลดลง แม้ในบางครั้งรู้สึกหิวแต่กลับไม่รู้สึกอยากกินอะไร โดยอาการนี้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลักคือ ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ที่เสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น และเมื่อคนเราไม่สามารถรับรู้ถึงรสชาติและกลิ่นของอาหารได้เท่าที่ควร ย่อมทำให้ความอยากอาหารลดลงและนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารในที่สุด

ปัญหาการกินผู้สูงอายุ
ปัญหาการกินที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

จากปัญหาด้านการกินอาหารที่พบในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำให้เกิดการผลิตอาหารสำหรับผู้สูงอายุเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่ เยลลี่สำหรับผู้สูงอายุ ที่ถูกออกแบบมาให้กลืนง่าย เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหากลืนลำบากและอาการสำลักง่าย หรืออาหารปรับเนื้อสัมผัส (Texture modified food) โดยตัวอาหารจะถูกพัฒนาให้มีรสสัมผัสและความอ่อนนุ่มหลายระดับตามความต้องการ เพื่อให้สามารถตอบสนองกับผู้สูงอายุที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปรับเนื้อสัมผัสทำให้สามารถผลิตอาหารที่ยังให้ความสุขในการรับประทานและยังมีโภชนาการที่เหมาะสม

ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุแบบปรับเนื้อสัมผัสวางขายตามท้องตลาด ทั้งจากการนำเข้าและจากการผลิตภายในประเทศ โดยสินค้าที่ถูกผลิตภายในประเทศมักจะมีรสชาติและมีเมนูที่ถูกปากคนไทยมากกว่า เช่น หมูพะโล้ ต้มยำกุ้ง ต้มแซ่บหมู เป็นต้น

สกินแคร์สำหรับผู้สูงอายุ

อีกหนึ่งปัญหาหลักของผู้สูงอายุที่มักถูกมองข้ามคือปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง โดยปัญหาผิวหนังในผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนคือ ปัญหากระเนื้อ กระนูน กระสีน้ำตาล ปัญหาผิวแห้งลอก อาการคัน และมะเร็งผิวหนัง โดยปัจจัยที่ก่อให้ปัญหาผิวหนังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัย ดังนี้

1. ปัจจัยภายใน

เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ตามเวลา เช่น เซลล์มีการแบ่งตัวได้ช้าลง การซ่อมแซมเซลล์เพื่อสร้างเซลล์ใหม่ลดลง รวมทั้งการเกิดอนุมูลอิสระทำให้เกิดการสะสมของเสียและเกิดกลไกการทำลายเซลล์มากขึ้น

2. ปัจจัยภายนอก

เป็นผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เช่น การโดนแดดมากเกินไป ความชื้นในอากาศต่ำ ฤดูหนาว อยู่ในห้องแอร์ อาบน้ำบ่อย หรือสัมผัสสารที่มีความเป็นกรดด่าง เช่น สบู่

ปัญหาผิวหนังผู้สูงอายุ
ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

จากปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังที่พบในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ทำให้มีสินค้าสกินแคร์สำหรับผู้สูงอายุที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาปัญหาผิวหนังของผู้สูงอายุหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

1. สบู่แบบไม่มีฟอง (Non soap based body wash)

เนื่องจากประเทศไทยมีอากาศร้อนและคนไทยส่วนมากอาบน้ำบ่อยเป็นปกติ การใช้สบู่ทั่วไปทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาผิวแห้งลอก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ผิวหนังไวต่อสารเคมี ซึ่งสบู่ประเภทนี้จะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิว แต่จะใส่ส่วนผสมอย่าง Glycerin หรือ Hyaluronic acid และส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติที่เป็นตัวช่วยเติมความชุ่มชื้นให้ผิวแทน

2. แป้งเนื้อโลชั่น (Lotion powder)

เนื่องจากผู้สูงอายุในประเทศไทยนิยมใช้แป้งกันเป็นจำนวนมาก แต่แป้งฝุ่นโดยทั่วไปจะมีส่วนผสมอย่าง Talc ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งและกระตุ้นปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจจากละอองของแป้ง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ แป้งเนื้อโลชั่นจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ โดยตัวสินค้าถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาผิวหนังของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เช่น การอับชื้น การเสียดสีของผิวจนทำให้เกิดรอยแดง และปัญหาผิวแห้ง เป็นต้น โดยแป้งเนื้อโลชั่นที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะนั้นยังมีไม่มากนักในตลาดประเทศไทย เพราะสินค้าชนิดนี้มักถูกออกแบบมาเพื่อจับตลาดในกลุ่มเด็กทารกมากกว่า

ในระยะหลัง Crowdabout ได้สังเกตเห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เริ่มก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ เริ่มให้ความสนใจกับ Anti Aging skincare น้อยลง และให้ความสนใจกับ Pro Aging skincare ที่มีแนวคิดส่งเสริมการทำให้ผิวดูมีสุขภาพดีสมวัยของผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น

เนื่องจาก Anti Againg skincare เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นไปที่การซ่อนและกำจัดปัญหาการแก่ตัวลงของผิว เสมือนการพยายามต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก ที่ไม่ว่าจะต่อต้านยังไง การเสื่อมชราก็จะยังคงอยู่และเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้ในระยะหลังผู้สูงอายุมักจะเลือกซื้อ Pro Aging skincare โดยจะเน้นในเรื่องของการป้องกัน บำรุงรักษา และการทำให้ผิวมีความสมดุลตามช่วงอายุ ดังนั้นริ้วรอยหรือร่องรอยความเสื่อมของผิวจะยังคงอยู่ แต่จะอยู่บนผิวที่มีความชุ่มชื้น ดูมีสมดุล และสุขภาพดีสมกับวัยของผู้สูงอายุนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าตลาดผู้สูงอายุในกลุ่มอาหารสำหรับผู้สูงอายุและสกินแคร์สำหรับผู้สูงอายุ เป็นสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของการกิน และสภาพผิวหนังที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งสินค้าในกลุ่มดังกล่าวเป็นสินค้าที่ยังมีไม่มากในประเทศไทย ทำให้ยังมีพื้นที่การแข่งขันในตลาดสำหรับสินค้าดังกล่าวที่กว้างมากพอสมควร

ต้องการคำแนะนำ กลยุทธ์หรือทีมช่วยวิเคราะห์ปัญหา
หาทางแก้ไขเพื่อต่อยอดพัฒนาธุรกิจของคุณ

Phone : 097-364-6592

Tag: ตลาดผู้สูงอายุผู้สูงอายุสังคมสูงวัย

Admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *